RSS

Category Archives: โรคและแมลง

โรคและแมลง

เชื้อราไตรโคเดอร์มา

เชื้อราไตรโคเดอร์มา (Trichoderma spp.)

      เป็นเชื้อราชั้นสูงที่เจริญได้ดีในดิน เศษซากพืช ซากของสิ่งมีชีวิตต่างๆ และวัสดุอินทรีย์ตามธรรมชาติ จัดเป็นเชื้อราปฏิปักษ์ที่สามารถใช้ควบคุมโรคพืช ซึ่งเกิดจากเชื้อราสาเหตุโรคพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในกล้วยไม้นั้น เชื้อราไตรโคเดอร์มาสามารถใช้กำจัดเชื้อราต้นเหตุของโรคกล้วยไม้ได้หลายตัว เช่น เน่าดำ เน่าเข้าใส้ รากเน่า โคนเน่า แอนแทรกโนส ราเม็ดผักกาด

ปกติแล้วการใช้ยาป้องกันกำจัดเชื้อรานั้น มีข้อจำกัดหลายอย่างคือ เวลาฝนตกติดต่อกันหลายวันจะไม่สามารถใช้ยาได้ และถ้ากล้วยไม้ยังเปียกอยู่ ยาก็ไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ แต่กับเชื้อราไตรโคเดอร์มานั้น สามารถนำมาใช้ได้ ไม่กลัวฝน และยังดำรงชีวิตอยู่ได้ในสภาพโรงเรือนด้วย

การจะนำเชื้อราตัวนี้มาใช้นั้นจะต้องทำการเลี้ยงขยายเชื้อเสียก่อนจึงจะนำมาใช้ได้ครับ

ขั้นตอนและวิธีการผลิตเชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสด

ในการผลิตเชื้อรานั้น วัสดุอาหารและหัวเชื้อเป็นปัจจัยที่สำคัญ ผลการวิจัยพบว่าปลายข้าวเป็นวัสดุอาหารที่ดีที่สุด หาซื้อง่ายและราคาถูก ส่วนหัวเชื้อไตรโคเดอร์มา ทางโครงการได้พัฒนาให้อยู่ในรูปผงแห้ง ซึ่งสะดวกในการใช้และเก็บรักษา

หัวเชื้อราไตรโคเดอร์มาบริสุทธิ์ : คือเชื้อราไตรโคเดอร์มาสายพันธุ์ CB-Pin-01 ที่ดีที่สุดจากการคัดเลือกเก็บในวัสดุอินทรีย์ที่ปราศจากจุลินทรีย์ปนเปื้อนทุกชนิด สามารถเก็บรักษาได้เป็นระยะเวลานานและสะดวกต่อการนำไปใช้เพื่อขยายหรือเพิ่มปริมาณเชื้อ

วิธีเก็บรักษาหัวเชื้อ : เก็บไว้ในตู้เย็น ( ประมาณ 8-10 องศาเซลเซียส ) สามารถมีชีวิตอยู่ได้นานประมาณ 1 ปี ถ้าเก็บที่อุณหภูมิในห้องปกติ สามารถเก็บไว้ได้นาน 6 เดือน

มาดูขั้นตอนการเลี้ยงกันครับ

วัสดุอุปกรณ์ในการเลี้ยงขยายเชื้อ
1 หัวเชื้อราไตรโคเดอร์มาบริสุทธิ์
2 ปลายข้าว 2 ส่วน
3 น้ำ 1 ส่วน
4 ถุงร้อน
5 ยางรัดปากถุง

นำปลายข้าวใส่ถ้วย ใส่น้ำพอท่วม
 
นำเข้าไมโครเวฟ ตั้งเวลาประมาณ 5 นาที หรือนำไปหุงด้วยหม้อหุงข้าวไฟฟ้า

ข้าวที่ได้จะเป็นลักษณะสุกๆดิบๆหรือที่เรียกว่าหุงแบบตากบ

ตักข้าวใส่ถุงขณะที่ข้าวยังร้อนๆอยู่ แล้วพับปากถุง วางไว้รอให้ข้าวอุ่นๆ
 
   พอข้าวอุ่นๆก็โรยหัวเชื้อบริสุทธิ์ลงไปนิดหน่อย
 
  มัดปากถุงให้แน่น ขยำข้าวให้หัวเชื้อกระจายให้ทั่วถุง
 
ใช้ไม้จิ้มฟันหรือเข็ม จิ้มบริเวณปากถุงให้ทั่ว เพื่อไว้เป็นที่ระบายอากาศ

เสร็จแล้วนำไปวางไว้บริเวณที่มีแสงสว่างส่องถึง และระวังมดด้วย

ทุกๆวันควรมากดถุงไล่อากาศออกและดึงถุงให้อากาศใหม่เข้าไปบ้าง 
 
ผ่านไป 3 วันจะเห็นเส้นใยเชื้อราสีขาวๆเจริญบนเมล็ดข้าว

ให้ขยำข้าวในถุงเพื่อให้เชื้อรากระจายให้ทั่วๆอีกครั้ง

จากนั้นก็นำไปวางไว้ในที่มีแสงส่องเหมือนเดิม

วันที่ 4 จะเห็นเชื้อราเจริญเต็มถุง

วันที่ 5-6 เชื้อราเจริญเต็มที่ เกิดเป็นสปอร์สีเขียวเกาะอยู่บนข้าว

วันที่ 7 เชื้อราเจริญเต็มที่ พร้อมที่จะนำไปใช้งานแล้ว

ขยำข้าวในถุงให้เป็นเม็ดร่วนๆ เทออกใส่ภาชนะไว้

ใส่น้ำลงไปในข้าว คนให้สปอร์เชื้อราที่เกาะอยู่หลุดออกมาผสมอยู่ในน้ำ

ใช้ผ้าขาวบาง หรือกระชอนช้อนปลา กรองเอาแต่น้ำใส่ขวดไว้ พร้อมที่จะนำไปใช้งานแล้ว

       อัตราส่วนเชื้อราที่เลี้ยงแล้ว 1 กิโล ผสมน้ำได้ 200 ลิตร
1 ขวดที่ได้ผมกรองได้จะผสมน้ำประมาณ 6-10 ลิตรนะครับ ควรผสมสารจับใบลงไปด้วย
เมล็ดข้าวที่ล้างแล้วสามารถนำไปผสมในเครื่องปลูกได้ด้วยนะครับ หรือจะเอาไปผสมกับปุ๋ยหมักหรือจะโรยตามกระถางต้นไม้อื่นๆก็ได้

    การใช้เชื้อราตัวนี้ก็มีข้อจำกัดเช่นกัน
– ราที่เลี้ยงขยายเชื้อครบ 7 วันแล้ว สามารถเก็บไว้ในตู้เย็นได้ 1 เดือน
– ราที่กรองเอาน้ำใส่ขวดไว้นั้นถ้ายังไม่ได้ใช้ ควรเก็บไว้ในตู้เย็นไม่เกิน 7 วัน
– งดใช้สารเคมีอื่นๆเป็นเวลาอย่างน้อยๆ 7 วันหลังฉีดเชื้อรา
– ไม่ควรใช้เวลาที่อากาศร้อนๆ
– เชื้อราตัวนี้จะทำให้เครื่องปลูกผุพังเร็วกว่าปกติ
– ควรมีการใช้ซ้ำในระยะ 7 วัน
– ต้องงดยากันเชื้อราโดยเด็ดขาย โดยเฉพาะ สารเคมีในกลุ่มเบนซิมิดาโซล (benzimidazole) ได้แก่ เบนโนมิล (benomyl) และคาร์เบนดาซิม (carbendazim) ซึ่งเป็นกลุ่มสารเคมีชนิดดูดซึม

     ถ้านำมาใช้การปลูกต้นไม้ทั่วๆไป ก็จะเอาเมล็ดข้าวที่ได้มาผสมลงไปในดินปลูก เอาไปผสมในปุ๋ยหมัก หรือโรยตามโคนต้น
ถ้าจะนำแบบน้ำมาใช้ก็เอามาผสมฉีดไปตามปกติ หรือจะเอาราดลงไปในดินเลยก็ได้ครับ

 
ใส่ความเห็น

Posted by บน สิงหาคม 17, 2011 นิ้ว โรคและแมลง